วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เอกสารประกอบการเรียนรู้ ชุดที่ 5.

กระบวนการเรียนรู้แบบธรรมชาติตามวัยวุฒิของเด็ก

ครูต้องมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจในตัวเด็กว่าเขาสามารถทำงานต่าง ๆ ได้ ถ้ามีความสนใจ มีฉันทะเกิดขึ้นแล้ว พฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กจะเกิดขึ้นเอง ซึ่งครูทุกคนต้องสังเกตตลอดเวลาให้เกิดเป็นประสบการณ์ตรงของครู สร้างองค์ความรู้ด้านพัฒนาการของเด็กที่เป็นความรู้ประจักษ์อยู่ในงานของครูเอง


ครูต้องระลึกรู้ว่าธรรมชาติของเด็กจะเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการเรียนรู้ มีสมองไว้คิดและมีประสาทสัมผัสทั้ง ๕ เพื่อการรับรู้ผ่านผัสสะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกายทำให้สามารถเรียนรู้ ซึมซับสิ่งต่าง ๆ โดยธรรมชาติ และโดยการดำเนินชีวิตจริงร่วมกับพ่อแม่พี่น้อง สิ่งแวดล้อมรอบตัวทุกขณะ ทุกเวลา ทุกสถาน
 
บทบาทของครู
 
เชื่อมโยงประสบการณ์ที่เด็กมีอยู่เดิมให้สัมพันธ์กับกิจกรรมที่จัดขึ้น ซึ่งอาจเป็นการเล่าเรื่องที่เด็กเคยพบเห็น การเปิดโอกาสให้เด็กพูดจากความคิดหรือประสบการณ์ในขณะฟังเรื่องจากหนังสือที่ ครูเลือกและ จัดหาหนังสือที่เหมาะกับวัยไว้ในชั้นเรียนเพื่อให้เด็กมีโอกาสหยิบมาอ่านหรือพลิกดูเสมอเพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับภาพความคิดและตัวหนังสือ ครูไม่จําเป็นต้องสอนให้เด็กอ่านออก หรือ เขียนอีกทั้งไม่ถูกบังคับให้เขียนตัวพยัญชนะ, คํา และ ประโยคตามที่ครูสั่ง

การสอนภาษาสำหรับเด็กต้องให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของทักษะทั้งสี่ด้านนั้นคือ การฟัง การพูด การอ่านและการเขียน เพราะการฟังและการพูดเป็นพื้นฐานของการอ่านและการเขียน ครูสามารถประเมินการสอนได้จากเด็กง่ายๆ โดยสังเกตว่าขณะเราสอนเด็กแสดงพฤติกรรมอย่างไร ถ้าเด็กหน้านิ่วคิ้วขมวด เลื้อยไปเรื่อยๆ ไม่อยากนั่งฟังอีกแล้วนั้นหมายถึงความรู้สึกที่เบื่อและเครียด แล้วครูก็รู้สึกไม่สนุกกับการสอน แสดงว่าการสอนภาษาของเราน่าจะมีปัญหาเสียแล้ว ครูจะรู้สึกอย่างไร ผิดหวังหรือไม่ หากเด็กทำไม่ได้ อย่างที่ครูต้องการในเวลาที่ครูกำหนดพร้อมๆกัน


แนวคิดพื้นฐานของการจัดประสบการณ์ทางภาษา
1.ครูจะต้องทราบว่าเด็กของเราเรียนรู้อย่างไรและเด็กเรียนรู้ภาษาอย่างเป็นธรรมชาติอย่างไร

2.ประสบการณ์ทางด้านภาษาของเด็กเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น เมื่อเด็กมาถึงโรงเรียนเด็กได้รับ
ประสบการณ์ด้านภาษามาบ้างแล้ว ระหว่างทางจากบ้านถึงโรงเรียนเด็กพบเห็น ป้ายชื่อร้านอาหาร ป้ายจราจร สัญลักษณ์ ป้ายโฆษณา เด็กจึงเรียนรู้ภาษามากมาย ก่อนเข้าเรียนชั้นอนุบาล

3.เชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้

4.เด็กจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด ถ้าเราสอนแบบ องค์รวม คือ
   4.1 สอนอย่างเป็นธรรมชาติ
   4.2 สอนอย่างมีความหมายต่อเด็ก เช่น เริ่มจากคำศัพท์ที่เด็กรู้จักคุ้นเคย
   4.3สอนให้เด็กสามารถนำคำที่สอนไปใช้ได้ด้วยเพราะถ้าเด็กไม่ได้นำไปใช้ เด็กจะเรียนรู้ได้ไม่ดี
   4.4 เนื้อหาที่จะสอนต้องอยู่ในชีวิตประจำวันที่เด็กได้ใช้

5.เด็กจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดถ้ามาจากการตัดสินใจของเด็กเอง เช่น การที่เด็กถามว่าชื่อของตนเองเขียนอย่างไร นั่นหมายถึงเด็กพร้อมที่จะรับรู้ในสิ่งที่เด็กอยากรู้ ดังนั้น ครูจะต้องทำอย่างไรให้เด็กอยากจะเรียนซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

6.ให้เด็กรู้สึกว่าตัวเขาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของห้องเรียนนั้นๆ ครูต้องไม่จัดกลุ่มให้นักเรียนเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับตัวเองและผู้อื่น เช่น มีกลุ่มเด็กเรียนอ่อน กลุ่มเด็กเรียนเก่ง

7.ไม่ให้เด็กรู้สึกว่า ตอนนี้ตัวเองกำลังถูกแข่งขัน เพราะเด็กจะรู้สึกกดดัน

8.ครูต้องสอนทุกทักษะไปพร้อมๆกันและเกี่ยวข้องกัน จะไม่มีเวลาอ่านโดยเฉพาะหรือเขียนโดยเฉพาะ

9.ทำให้การเรียนภาษาของเด็กเป็นสิ่งที่น่าสนใจและสนุกสนาน

แนวทางการจัดประสบการณ์ทางภาษา

1.เริ่มจากสิ่งที่เด็กรู้แล้วและอยู่ในความสนใจของเด็ก เช่น ชื่อตัวเองชื่อของร้านที่ไปบ่อยๆ นิทานที่พบ (เริ่มจากสิ่งที่เด็กรู้แล้วไปสู่สิ่งที่เด็กยังไม่รู้)

2.ให้ความเคารพและยอมรับภาษาที่เด็กใช้ เช่น เด็กต่างจังหวัดที่ไม่ใช้ภาษากลางหรือครอบครัวที่ไม่ได้พูดภาษากลาง ครูควรบอกหรือแนะนำให้เด็กเข้าใจว่าต่างกันอย่างไร เพื่อไม่ให้เด็กสับสนสำหรับในกรณีที่เด็กพูดคำหยาบ ครูต้องเป็นตัวอย่างหรือแนะนำคำที่ถูกต้องเสียใหม่แล้วเด็กจะรับรู้เอง โดยเราจะบอกคำที่ถูกบ่อยๆ แต่จะไม่ย้ำคำที่เด็กพูดไม่เพราะ ให้เด็กรู้เองจากการทวนคำพูดเด็กโดยเปลี่ยนเป็นคำพูดที่ถูกและเหมาะสม

3.การประเมินโดยการสังเกตุ ครูอาจจะมีแบบสังเกตุเพื่อให้ง่ายขึ้นในแบบสังเกตุอาจประเมินทักษะในเรื่อง
    - สามารถจำเนื้อเรื่องได้
    - สามารถเข้าใจความหมาย บอกซ้ำ เล่าได้
    - เราจะต้องมีวิธีการประเมินไม่ให้เด็กรู้สึกเครียด

4.ใช้วิธีการประเมินที่เหมาะสม และจำกัดการประเมินแบบต่างๆ ที่เป็นทางการและการใช้แบบทดสอบต้องไม่จำกัดว่า ครูจะต้องใช้วิธีวัดผลอย่างใดอย่างหนึ่งชนิดเดียว เช่น ต้องอ่านหน้านี้ให้ได้จึงจะถือว่าผ่าน

5.เสนอความคิดต่อผู้ปกครอง ทำอย่างไรพ่อแม่จึงจะเข้าใจวิธีที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาและช่วยลูกได้

6.ส่งเสริมให้เด็กเรียนอย่างกระตือรือร้น ส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงตน

7.สร้างความรู้สึกประสบความสำเร็จ ช่วยเหลือ ให้กำลังใจในความพยายามที่จะอ่านจะเขียนในระยะเริ่มแรกของเด็ก

8.ให้เด็กอ่านสิ่งที่เด็กคุ้นเคย สามารถเดาและคาดคะเนได้

9.อ่านให้เด็กฟังจากแหล่งต่างๆ เช่น นิทาน สารานุกรม บทความ รายการอาหาร ป้าย จดหมาย

10.จัดประสบการณ์การอ่าน และส่งเสริมเด็กให้ลงมือกระทำ

11.ส่งเสริมให้เด็กรู้จักเสี่ยง กล้าลองผิดลองถูก

12.พัฒนาทางด้านจิตพิสัยและพัฒนาการทางความคิดของเด็กให้เด็กมีความรักในภาษา


ตัวอย่างกิจกรรมส่งเสริมการพูด

- อธิบายหรือเล่าถึงภาพที่เห็น
- ทำท่าประกอบคำการพูด
- เล่านิทาน
- ลำดับเรื่องตามนิทาน
- เรียกชื่อตามนิทาน
- เรียกชื่อและอธิบายลักษณะสิ่งของ
- จำและอธิบายลักษณะสิ่งของ
- อธิบายขนาดและสีของสิ่งของ


ตัวอย่างกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเขียนที่บ้าน

กิจกรรมต่อไปนี้ท่านสามารถจัดทำที่บ้านได้
1.แนะนำพ่อแม่ชักชวนให้ลูกหัดสังเกต เช่นฝึกอ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ได้แก่ ป้ายต่างๆ สัญลักษณ์ห้องน้ำชาย-หญิง

2.ชักชวนลูกให้อ่านเครื่องหมายจราจร เช่น สัญญาณหยุด เครื่องหมายจำกัดความเร็ว เครื่องหมายให้ระวังรถไฟ

3.เวลาไปรับประทานอาหารนอกบ้านชักชวนลูกให้อ่านหนังสือที่สังเกตเห็น เช่น ตามที่รองจาน ผ้าเช็ดปาก ในเมนูอาหาร

4.ชักชวนให้เขียนคำอธิบายภาพของครอบครัวและบันทึกตามคำพูดของลูก

5.เขียนส่วนผสมอาหารและลองปรุงกับลูก

6.ให้เด็กรู้จักการเขียน เช่น เขียนโน๊ต เขียนจดหมาย

7.ในขณะที่ท่านเปิดจดหมายอ่าน ให้ลูกมีส่วนร่วมในการเปิดจดหมาย

8.จดรายการสิ่งของที่จะซื้อด้วยกันและให้คูปองที่หมดอายุแล้วเพื่อให้ลูกจะได้นำไปใช้ที่มุมร้านค้าที่โรงเรียน หรือจัดชั้นเรียน

9.ไปห้องสมุดกับลูกและยืมหนังสือด้วยกัน และให้หนังสือเป็นของขวัญแก่ลูก

10.ฝึกให้ลูกจดบันทึกกิจกรรมที่ท่านกับลูกทำด้วยกัน เช่น เราจะไปห้องสมุดด้วยกันพรุ่งนี้

ตัวอย่างกิจกรรมส่งเสริมการฟัง

  - ฟังประกอบหุ่น

  - ฟังและแยกเสียง

  - ฟังเสียงคำคล้องจอง

  - ฟังอย่างสร้างสรรค์และวิจารณ์

  - ฟังแล้วทำตามคำสั่ง


ขั้นตอนการอ่านและการเขียน

ขั้นที่ 1
    - คาดเดาภาษาหนังสือ
    - แก้ไขความผิดพลาดของความหมายด้วยตนเอง
    - พยายามใช้ประสบการณ์จากการพูดคุยกลับมาเป็นภาษาที่ใช้อ่าน

ขั้นที่ 2
    -แก้ไขข้อผิดพลาดในประโยคด้วยตนเอง
    - ตระหนักว่าตัวหนังสือมีรูปร่างคงที่
    - สามารถชี้บอกคำที่เหมือนกันซึ่งอยู่ในหน้าเดียวกัน
    - สามารถมองตามตัวอักษรบนแผ่นกระดาษขนาดใหญ่ได้

ขั้นที่ 3
   - จำคำที่คุ้นเคยได้
   - คาดคะเนความหมายจากบริบท
   - ใช้วิธีการอ่านไปในทิศทางเดียวกันจนเป็นนิสัย
   - สามารถระบุและบอกชื่อตัวอักษรได้เกือบหมด

ขั้นที่ 4
   - เข้าใจเกี่ยวกับ “การเริ่มต้น” และ “การลงท้าย” เมื่อนำมาใช้ในการเดาคำ
   - ใช้เสียงช่วงต้นของคำในการเดาคำใหม่ๆ ในบริบท
   - สามารถใช้คำที่รู้จักมาแต่งประโยคได้

ขั้นที่ 5
   - ในการแก้ปัญหาการอ่านคำ ใช้เสียงเริ่มต้นและเสียงควบกล้ำไปพร้อมกับคำบอกใบ้ของบริบท
   - สามารถรู้ว่าเสียงของคำที่ได้ยินประกอบด้วยตัวอักษรอะไร
   - สร้างคำศัพท์จากสิ่งที่พบเห็นได้มากขึ้น

การเขียนในขั้นตอนการเขียนของเด็กจะพบว่าเด็กจะมีพัฒนาการแบ่งได้เป็น 6 ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1
ขีดเขี่ย เป็นการขีดเขียนของเด็กเป็นรูปอะไรก็ได้อาจมีหรือไม่มีความหมาย

ขั้นที่ 2
เขียนเส้นตามยาวช้ำๆ กัน ในการขีดเขียนจะเริ่มมีจังหวะหยุด มีการยกมือ เลียนแบบการเขียนของผู้ใหญ่และมีความตั้งใจที่จะเขียน

ขั้นที่ 3
เริ่มเขียนได้มีรูปร่างคล้ายตัวอักษร แต่ยังไม่ใช่ตัวอักษร

ขั้นที่ 4
เขียนตัวอักษรและสัญลักษณ์ของคำเริ่มต้นได้สัมพันธ์กันเริ่มเขียนคำที่มีความหมายซึ่งเด็กสามารถบอกได้ว่าตรงนี้หมายความว่าอย่างไร

ขั้นที่ 5
สร้างตัวสะกดเอง เด็กคิดขึ้นเองว่าสะกดอย่างไรทั้งที่จริง เด็กไม่รู้ว่าคำนั้นเขียนอย่างไรแต่เด็กจะคิดเองว่าจะสะกดอย่างไรและเขียน ออกมา

ขั้นที่ 6
สามารถเขียนได้ถูกต้องตามแบบแผน

ข้อควรปฏิบัติในการจัดประสบการณ์ทางภาษา
1.ควรสอนในสภาพที่เป็นธรรมชาติที่สุด ไม่ใช่การจับเด็กมานั่งเรียนอย่างเดียว เช่น ในการเรียนภาษา อาจแทรกอยู่ในกิจกรรมศิลปะ โดยให้เด็กเล่าผลงานของเขา แล้วครูจะเขียนคำที่เด็กเล่าบนกระดาน ซึ่งลักษณะการสอนแบบนี้เป็นการสอนจากสิ่งที่รู้ไปยังสิ่งที่ไม่รู้ ครูจะต้องรู้จักและเป็นผู้บูรณาการทุกอย่างเข้าด้วยกันได้

2.ควรสอนโดยไม่มีการแบ่งแยกกลุ่มเด็กเก่งเด็กอ่อน การแบ่งแยกกลุ่มเด็กเก่ง เด็กอ่อน จะเป็นการสร้างปมด้อย หรือสร้างความไม่เชื่อมั่นในตนเองให้แก่เด็ก เด็กทุกคนควรมีโอกาสในการเรียนที่เท่ากัน

3.การที่เด็กเกิดมาพร้อมกับความสนใจอยากรู้อยู่แล้ว จะเป็นแรงกระตุ้นให้เขาสามารถจำคำต่างๆได้ โดยครูอาจใช้ความคิดเกี่ยวข้องกับภาษาของเด็กมาสอน ขณะที่เด็กกำลังสนใจที่จะเขียนชื่อของตัวเอง ก็จะสอนให้เด็กทรายว่าชื่อตัวเองสะกดอย่างไร หรืออาจจะทำเป็นธนาคารคำศัพท์ (WORD BANK) ประจำห้องเรียน โดยให้เด็กๆ คิดคำพูดขึ้นมา 1 คำ สำหรับวันนี้ จากนั้นครูจะเขียนคำพูดนั้นลงในบัตรคำของเด็ก เด็กจะรู้สึกว่านี่คือคำที่เขาคิดขึ้นมา เมื่อเขียนแล้วมีลักษณะ แบบนี้แล้วเขาจะสนใจที่จะจดจำคำ WORDBANK ก็จะกลายเป็นแหล่งความรู้ประจำห้องเรียนที่เด็กๆ สามารถมาเปิดดูหรือค้นคว้าได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น