วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เอกสารประกอบการเรียนรู้ ชุดที่ 2.

การจัดประสบการณ์ทางภาษามีกระบวนการและบรรยากาศที่มีลักษณะของความร่วมมือกันระหว่างครูและเด็กๆ ตั้งแต่การวางแผน คือ คิดด้วยกันว่าจะทําอะไร ทําเมื่อไร ทําอย่างไร จําเป็นต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อะไร จะหาสิ่งที่ต้องการมาได้อย่างไร และใครจะช่วยทํางานในส่วนใด


ในการจัดประสบการณ์ทางภาษามีการวางแผน
แผนระยะยาว (long-range plans) เพื่อวางกรอบความคิดกว้างๆ
แผนระยะสั้น (short-range plans) โดยเด็กและครูจะใช้ความคิดพูดคุยปรึกษากันเพื่อหารายละเอียดและขั้นตอนในการทํากิจกรรม
การฟังและการพูดของเด็ก
เด็กมีโอกาสได้ยินเสียงแม่พูด แม้ว่ายังพูดไม่ได้ เด็กเกิดการเรียนรู้ภาษาพูดเพราะการสอนเด็กให้พูดนั้น เด็กจำเป็นต้องได้ยินได้ฟังภาษาพูดก่อน ยิ่งได้ฟังมากจะเข้าใจชัดเจนขึ้นและยิ่งเรียนรู้คำศัพท์มากขึ้น การเรียนรู้วิธีพูดเป็นประโยคยาว ๆ ทําให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

เด็กวัย ๒ - ๓ ขวบ การพูดของแม่จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการทางภาษาที่ดี การสนทนา การซักถามเกี่ยวกับกิจวัตรประจําวันเป็นสิ่งจําเป็นในการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ในด้านการเข้าใจความหมายของภาษาจากเรื่องง่ายไปจนถึงเรื่องที่ยากและสลับซับซ้อนมากขึ้น ภาษามีบทบาทในการสื่อความคิดรวมไปถึงจินตนาการ เพื่อตอบสนองความต้องการของตนได้เป็นอย่างดี


การอ่านและการเขียน
การอ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกวันเป็นสิ่งจําเป็นในการให้โอกาสเด็กเรียนรู้เพื่อพัฒนาภาษาเขียน ขณะที่อ่านควรชี้นิ้วตามตัวหนังสือประกอบไปด้วย ทําให้เด็กเรียนรู้กฎเกณฑ์ทุกขั้นตอน สิ่งที่สําคัญคือการให้เด็กเรียนรู้ที่จะเข้าใจประเด็นในเรื่องที่อ่านว่าสิ่งที่ประกอบกันขึ้นทั้งหมดคือองค์รวมที่เป็นเนื้อหาที่นําเสนอระบบการคิดผ่านไวยากรณ์ของภาษา ควรสนทนากับเด็กเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางภาษาอย่างง่าย ๆ เนื้อหาที่อ่านควรสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆรอบตัว และพยายามเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิมของเด็กตลอดเวลาเพื่อให้เห็นประโยชน์และความเกี่ยวพันของภาษาเขียนกับชีวิตจริง


อ่าน – เขียน
- เน้นความเข้าใจเนื้อเรื่องมากกว่าการท่องจำตัวหนังสือผ่านการฟังนิทาน เรื่องราวสนทนาโต้ตอบ คิดวิเคราะห์ร่วมกับครูหรือผู้ใหญ่
- การคาดคะเนโดยการเดาในขณะอ่าน เขียน และสะกด เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในการเรียนรู้ภาษาธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องอ่านหรือสะกดถูกต้องทั้งหมด
- มีหนังสือ วัสดุสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ให้เด็กเป็นผู้เลือก เพื่อได้รับประสบการณ์ทางภาษาอย่างหลากหลาย
- ครูแนะนำและสอนอ่านในกลุ่มที่ไม่ใหญ่มากโดยใช้หนังสือเล่มใหญ่ที่เห็นชัดเจนทั่วกัน
-ให้เด็กแบ่งกลุ่มเล็กๆผลัดกันอ่านด้วยการออกเสียงดัง ๆ
- ครูสอนการอ่านอย่างมีความหมายด้วยความสนุกสนานในกลุ่มย่อย สอนให้รู้จักวิธีการใช้หนังสือการเปิดหนังสืออย่างถูกต้อง
- เปิดโอกาสให้เด็กพูดคุย ซักถามจากประสบการณ์เดิมซึ่งครูสามารถประเมินความสามารถการอ่านของเด็กแต่ละคนไปด้วยพร้อมกัน
-ให้เด็กแต่ละคนมีโอกาสเลือกอ่านหนังสือที่ชอบและยืมไปนั่งอ่านเงียบ ๆ
-ให้เด็กได้เขียน ขีดเขี่ย วาดภาพ ถ่ายทอดสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์ ความประทับใจ อย่างอิสระ
- ครูตรวจสอบสภาพการเขียนของเด็กแต่ละคนโดยการให้เด็กเล่าสิ่งที่เขียนหรือวาดให้ครูฟัง โดยครูอาจแนะนำการเขียนที่ถูกต้อง เพื่อให้เด็กพัฒนาการเขียนได้ด้วยตัวเด็กเองทุกวันโดยไม่มุ่งแก้คำผิดหรือทำลายความอยากเขียนของเด็ก

                 จึงกล่าวได้ว่า การเขียนหมายถึงการสื่อสาร เพื่อแสดงความคิด ความรู้สึกออกมาอย่างมีความหมาย การเขียนและการอ่านจะดําเนินไปพร้อมกัน เนื่องจากการเป็นนักเขียนที่ดีได้นั้นต้องอาศัยการอ่านที่แตกฉานในเรื่องนั้นๆ ส่วนการฝึกฝนให้เด็กเขียนหนังสือนั้น ครูต้องตระหนักว่าการฝึกเขียนที่ให้ลอกเลียนแบบ โดยเด็กไม่ได้ใช้ความคิด แต่เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือ หรือฝึกเฉพาะความสวยงามของลายมือนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง กับการเขียนที่มาจากความคิด

ภาษาที่ได้จากการฝึกคิดและถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นภาษาสัญลักษณ์ คือ ตัวอักษรอย่างธรรมชาติจากการได้ฟังมาก ได้อ่านมาก จนสามารถถ่ายทอดเองได้ และมาฝึกฝนความถูกต้องสวยงามภายหลังส่วนการอ่านนั้นสามารถทําได้ตลอดเวลาด้วยการอ่านจากหนังสือ จากถนน จากสิ่งรอบตัวจากป้ายโฆษณา จากถุงขนม ความรู้ของเด็กจะเพิ่มพูนขึ้นเมื่อเด็กได้รับโอกาสในการทํากิจกรรมที่เกี่ยวกับการอ่านร่วมกับผู้ใหญ่ และกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้อ่านเงียบๆตามลําพัง การอ่านกับเพื่อนเป็นคู่ เป็นกลุ่มย่อย เพื่ออภิปรายร่วมกัน ในการรับฟังและตรวจสอบความคิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการอ่านจากสิ่งที่ ครู – เด็ก เขียนร่วมกัน หรือสิ่งที่เด็กเขียนขึ้นเอง นับได้ว่าเป็นการอ่านที่ดีที่สุดของเด็ก


ความเชื่อมโยงภาษาพูดกับภาษาเขียน

ภาษาพูดกับภาษาเขียนมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันโดย ความรู้เกี่ยวกับคำจะเพิ่มพูนมากขึ้นเมื่อเราพูด เล่า สนทนาโต้ตอบกัน เราอ่านจากหนังสือประเภทต่าง ๆ อ่านจากป้ายในทุกหนทุกแห่งที่สนใจ จะทำให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวต่างๆไปพร้อมๆกันและช่วยให้เด็กมี ความรู้เพิ่มพูนขึ้น
ทักษะการสนทนาจะพัฒนามากขึ้น ด้วยการพูดคุยกับพ่อแม่ เพื่อน ครู ในสถานการณ์หรือเรื่องราวที่มีความสัมพันธ์กับตัวเด็ก เมื่อเด็กได้รับโอกาสในการแสดงออกโดยการพูด เด็กจะได้เรียนรู้จากสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง จากสิ่งที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง ซึ่งเด็กนำไปใช้เพื่อการสื่อสาร หรือแสดงความรู้สึกนึกคิดออกมาในการดำเนินชีวิตประจำวันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรู้ความหมายในภาษาเขียน

         จุดสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาภาษาคือการที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง ในขณะที่ครูอ่านไป เด็กจะมองตามตัวหนังสือและมักจะพยายามหาความหมายไปด้วยจากภาพหรือจากตัวหนังสือ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมการรู้หนังสือ…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น